Powered By Blogger

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กลยุทธ์ของ Toyota

กรณีบริษัท Toyota ที่ประยุกต์ใช้ทั้งกลยุทธ์ความรวดเร็ว และกลยุทธ์ความยืดหยุ่นซึ่งเป็นการ บูรณาการกลยุทธ์ทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เป็นการสร้างให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น บริษัทรถยนต์ Toyota เมื่อ 50 ปีก่อนน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินชื่อ Toyota หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องพัฒนาตนเองอย่างมาก เพราะเป็นผู้แพ้สงคราม Toyota เป็นบริษัทหนึ่งของญี่ปุ่นที่ส่งออกรถยนต์ไปขายในประเทศอเมริกา ในขณะนั้นประเทศอเมริกามีบริษัทรถยนต์ของตัวเองที่มีชื่อเสียงมากเช่น GM Ford และ Chrysler อีกทั้งยังมีรถยนต์นำเข้าจากยุโรป เช่น BMW Benz Renault รถยนต์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดความจุของเครื่องยนต์สูงมีจำนวน 6-8 สูบ ในขณะที่ Toyota นำเอารถยนต์ 4 สูบซึ่งมีขนาดเล็กเข้าไปจำหน่ายในตลาดอเมริกา ลูกค้าอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญแม้แต่น้อย ต่างมองกันว่ารถยนต์ของ Toyota เป็นเพียงแค่รถเด็กเล่นในขณะนั้น แต่กระนั้น Toyota ไม่ยอมละความพยายามและความอดทน ยังยึดมั่นอยู่กับการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยทำการศึกษา คู่แข่งขันอย่างละเอียดถึงจุดอ่อน จุดแข็ง และโอกาส รวมทั้งอุปสรรคต่างๆ โดยมีการเปรียบเทียบตัวเองกับบริษัทคู่แข่ง จากการศึกษาทำให้ Toyota พบจุดอ่อนที่สำคัญของบริษัทรถยนต์ที่เป็นคู่แข่ง โดยพบว่าการออกรถยนต์รุ่นใหม่ไม่มีความสมดุลลงตัวกับความต้องการของลูกค้าชาวอเมริกันในการซื้อรถยนต์ใหม่ เพราะเบื่อที่จะขับรุ่นยนต์รุ่นเก่าเป็นเวลานานเกินไป Toyota จึงใช้กลยุทธ์ความรวดเร็วเป็นแกนหลัก เมื่อพบว่าการเปลี่ยนรุ่นของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ของอเมริกาจะใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณเจ็ดถึงแปดปี ในขณะที่ค่ายรถยนต์จากยุโรปมีระยะเวลาในการเปลี่ยนรุ่นของรถที่ระยะเวลาประมาณแปดปี Toyota จึงกำหนดการเปลี่ยนแปลงรุ่นของรถยนต์ทุกๆ ห้าปี และลดเหลือสี่ปี ทำให้ในขณะนั้นในท้องถนนมีแต่รถรุ่นเก่าของ GM, Ford, Benz อื่น ๆ วิ่งอยู่ทั่วไป ในขณะที่ Toyota กลับมีรถรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีสีสันสดสวย รูปร่างโฉบเฉี่ยว และมีพลังของเครื่องยนต์สูงแต่สามารรถประหยัดน้ำมันได้มากกว่า โดยออกแบบให้เครื่องยนต์มีความจุของกระบอบสูบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวอเมริกันซึ่งในขณะนั้นมีเศรษฐกิจที่ดีมาก ด้วยนิสัยเบื่อง่ายทำให้คนอเมริกันเริ่มหันเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ Toyota มากขึ้น จึงพบกับความจริงว่ามิใช่เพียงแต่สินค้าเท่านั้นที่มีการพัฒนา การบริการก็ได้รับการพัฒนาเช่นกัน เพราะ Toyota ได้สร้างมาตรฐานการให้บริการที่ดีเยี่ยม ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่ลูกค้าอย่างมากเป็นผลให้ชาวอเมริกันยอมรับในตัวของ Toyota มากขึ้น ในขณะที่ Toyota มีการเติบโตมากขึ้น แทนที่บริษัท GM Ford Chrysler BMW และ Benz จะตอบสนองต่อการแข่งขันแต่กลับนิ่งเฉย โดยมีสมมติฐานว่าในกรณีที่ Toyota มีแผนในการเปลี่ยนแปลงรุ่นของรถยนต์เร็วมากขึ้นเท่าไร สิ่งที่จะเพิ่มมากขึ้นตามมาคือ ต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนสายการผลิต การปรับพื้นที่โรงงานผลิต และการจัดการกับสินค้า และอะไหล่คงคลัง ฯลฯ ซึ่งในที่สุดแล้วราคาขายจะต้องปรับตัวสูงมากขึ้นจนกระทั่งลูกค้ายอมรับไม่ได้ และจะประสบกับการขาดทุนในที่สุด แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะ Toyota ได้นำเอากลยุทธ์ยืดหยุ่นมาบูรณาการใช้ประกอบกับกลยุทธ์ความรวดเร็ว โดยออกแบบโรงงานผลิต และระบบสายพานประกอบรถยนต์ให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นเรียกว่า "Flexible Manufacturing System" ที่สามารถปรับสายการผลิตได้ใหม่โดยไม่ต้องรื้อถอน ในการประกอบรถยนต์โดยเฉพาะส่วนของตัวถังมีการประยุกต์นำเอาหุ่นยนต์มาใช้ทำงานมากขึ้น โดยสามารถควบคุมด้วยโปรแกรมที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สามารถผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆได้เพียงแค่เปลี่ยน Softwareเท่านั้น ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนในการเปลี่ยนรุ่นแต่ละครั้งได้ ผลก็คือ การผลิตโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีความต้องการจากลูกค้าจำนวนมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิด Economies of Scale ที่ทำให้ Toyota มีต้นทุนในการผลิตลดลงจากจำนวนการผลิตที่มากขึ้น ทำให้ราคาขายของ รถยนต์ Toyota สามารถแข่งขันได้สูงมากยิ่งขึ้นในตลาดเมื่อเทียบกับรถยนต์ของคู่แข่งในขนาดและปริมาตรกระบอกสูบเท่ากันจากความชาญฉลาดในการดำเนินธุรกิจของ Toyota ส่งผลทำให้บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ของอเมริกาต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับบริษัทรถยนต์ที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงแค่รถเด็กเล่นในสายตาของตัวเอง ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ต้องปิดโรงงานผลิตจำนวนมาก ซึ่งทำให้บริษัทผลิตรถยนต์ทั่วโลกเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจตามแนวคิดใหม่อย่างจริงจังมากขึ้น
โดยสรุปพบว่า กลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันนั้นเป็นวิทยาการ การจัดการธุรกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันขององค์การธุรกิจ ทั้งนี้การปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำตลอดเวลาเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันนั้นไว้

ไม่มีความคิดเห็น: